เมืองสองแควคือเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยขอม คำว่าสองแควมาจากที่ตั้งของเมืองซึ่งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย
คือแม่น้ำน่านกับแม่น้ำแควน้อย แต่ปัจจุบันแม่น้ำแควน้อยเปลี่ยนเส้นทางออกห่างจากตัวเมืองไปแล้ว และที่ตั้งในอดีตห่างจากที่ตั้งเมืองปัจจุบันลงไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร (วัดจุฬามณีในปัจจุบัน)
ต่อมาสมัยอยุธยาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างเมืองใหม่บริเวณเมืองสองแควและเมืองชัยนาท ขนานนามว่า เมืองพิษณุโลกสองแคว โดยทรงหมายมั่นให้เป็นราชธานีฝ่ายเหนือคู่กับกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เมืองพิษณุโลกในสมัยอยุธยามีความสำคัญยิ่งทางด้านการเมืองการปกครอง ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และด้านการศาสนาก็ไม่ได้ถูกละเลย เห็นได้จากโบราณสถานโบราณวัตถุที่ตกทอดมายุคปัจจุบันล้วนเป็นศิลปะสมัยอยุธยา หรือได้รับการบูรณะในช่วงเวลานั้น ยุคนี้จึงถือเป็นยุคทองของเมืองสองแควหรือพิษณุโลกอย่างแท้จริง
ปัจจุบันเมืองพิษณุโลกยังคงมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทางภาคเหนือตอนล่าง การเดินทางไปในปัจจุบันนั้นแสนสะดวก สามารถเดินทางได้ทั้งเครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ และหากเจาะลึกจะพบว่า เมืองพิษณุโลกมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ สามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือเรียกกันทั่วไปว่าวัดใหญ่ วัดงามริมฝั่งแม่น้ำน่าน แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านกลางเมืองพิษณุโลก ซึ่งพุทธศาสนิกชนต่างมุ่งหน้าไปสักการะพระประธานที่ประดิษฐานในวัดนี้ นั่นคือ พระพุทธชินราช พระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยสุโขทัยเลยทีเดียว พระพุทธชินราชองค์นี้ถือเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองพิษณุโลก
ตามตำนานเล่ากันสืบมาว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา พระพุทธรูปสามองค์นี้ถูกเรียกว่าพระพี่น้องกัน เพราะสร้างขึ้นในคราวเดียวกัน อีกทั้งยังมีพระพุทธลักษณะที่ดีงามคล้ายกันอีกด้วย พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อๆ กันมาว่า จากเดิมจะอัญเชิญพระพุทธชินราชมาด้วย แต่เมื่อเอาลงแพ เตรียมที่จะล่องลำน้ำน่านนั้น แพไม่ยอมเคลื่อนที่ ตรวจดูแล้วก็ไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร พระพุทธชินราชจึงถูกประดิษฐานที่วัดใหญ่สืบมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อสักการะพระพุทธชินราชเสร็จแล้ว ยังมีพระสำคัญๆ ในวัดใหญ่ให้สักการะเพื่อเป็นสิริมงคลอีกหลายองค์ หรือใครอยากจะนั่งรถรางที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ชมเมืองพิษณุโลกก็ได้ เพราะรถรางจะจอดอยู่ภายในวัด เส้นทางที่แล่นผ่านจะผ่านสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์อย่าง วัดใหญ่ สวนชมน่าน อันเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวแพ สถานีรถไฟที่มีหัวรถจักรเก่าจัดแสดงไว้อยู่ หอนาฬิกาเมือง สะพานเอกาทศรถ พระบรมราชานุสาวรีย์พระยาจักรี กำแพงคูเมืองที่ป้องกันฆ่าศึกโจมตีเมืองและใช้ระบายน้ำออกจากเมือง ศาลากลางจังหวัด วัดวิหารทอง เนินอะแซหวุ่นกี้ และศาลองค์พระนเรศวร ใช้เวลาประมาณ 40 นาที มีรถบริการทุกวัน
ที่ตั้ง 92/3 ถนนพุทธบูชา (ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสองแควมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมเก่า และปัจจุบันกลับมาเป็นพระราชวังจันทน์เช่นเดิม ลักษณะศาลจะเป็นศาลาทรงไทยโบราณสีขาว ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประทับนั่งมีขนาดเท่าองค์จริงขณะทรงนั่งหลั่งน้ำจากสุวรรณภิงคาร (น้ำเต้าทอง) เพื่อประกาศอิสรภาพให้แก่ปวงชนชาวไทย สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2404
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือพระนามเดิมว่าพระองค์ดำ ประสูติและเจริญพระชันษาที่พระราชวังจันทน์ เมืองสองแคว หรือพิษณุโลกในปัจจุบัน พระองค์ทรงเป็นผู้กอบกู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก
ที่ตั้ง อยู่ติดกับค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
อำเภอเนินมะปราง
เนินมะปรางเป็นอำเภอเล็กๆ ห่างจากตัวจังหวัดพิษณุโลกไปประมาณ 68 กิโลเมตร ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในเวลานี้ไม่น้อย เพราะยังแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติที่งดงามของภูเขาหินปูนรูปร่างสวยแปลกตาที่มีอายุกว่า 300 ล้านปี ป่าเขียวขจี อีกทั้งอากาศยังเย็นสบายตลอดทั้งปี จนได้รับฉายาว่า กุ้ยหลินแห่งภาคเหนือ บวกกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนเนินมะปรางจึงเป็นแรงดึงดูดชั้นดีด้วย ในอำเภอจะมีจุดท่องเที่ยวหลักๆ แบ่งออกเป็น 3 จุดใหญ่
- จุดแรกที่บ้านมุงอยู่ในตัวอำเภอเนินมะปรางเลย ซึ่งจุดนี้จะมองเห็นภูเขาหินปูนสูงใหญ่อันเป็นสัญลักษณ์ของเนินมะปรางชัดเจนมาก นอกจากนั้นยังมีถ้ำอยู่มากมาย มองเห็นท้องทุ่งนาอันกว้างใหญ่ และสามารถชมฝูงค้างคาวจำนวนมากที่ออกหากินยามเย็นได้อีกด้วย หากใครต้องการพักค้างที่บ้านมุงก็มีโฮมสเตย์ให้เลือกพักหลายแห่ง
- จุดที่สองน่าไปเยือนคือ บ้านรักไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านสวนชมวิว จุดชมวิวและเล่นชิงช้าบนต้นไม้ ซึ่งวิวตรงนี้เมื่อมองไปด้านล่างจะเห็นอำเภอเนินมะปรางสวยงาม หากมาเที่ยวในฤดูฝนก็สามารถเห็นทะเลหมอกด้วย มีบ้านพักเป็นหลังหรือจะกางเต้นท์นอนท่ามกลางต้นไม้ป่าเขาบรรยากาศดีมาก
- จุดที่สามบ้านไร่ทานตะวัน ไฮไลท์เด็ดที่นักท่องเที่ยวถ่ายรูปกันรัวๆ อยู่ที่ทุ่งดอกทานตะวันซึ่งจะบานสะพรั่งเหลืองไปทั่วท้องทุ่งในฤดูหนาว สลับกับวิวภูเขาหินปูน เป็นสิ่งที่ประทับใจสำหรับทุกคนที่มาเที่ยวจริงๆ ตรงจุดนี้จะมีที่พักกางเต้นท์นอมชมพระจันทร์สูดกลิ่นอายธรรมชาติอันบริสุทธิ์ได้เช่นกัน แล้วจะรู้ว่าความสุขอยู่ใกล้ตัวจริงๆ
ที่ตั้ง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอำเภอเนินมะปราง โทรศัพท์ 085 400-1727
ล่องแก่งลำน้ำเข็ก
สายแอดเวนเจอร์ต้องไม่พลาดกิจกรรมนี้ ล่องแก่งลำน้ำเข็ก กิจกรรมสุดท้าทายของคนรักการผจญภัยทางสายน้ำ ลำน้ำเข็กเป็นหนึ่งในสถานที่ล่องแก่งที่สนุกสนานแห่งหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งเทศกาลล่องแก่งลำน้ำเข็กจะเริ่มเล่นกันช่วงฤดูฝนเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมของทุกปี เพราะน้ำจะมากเพียงพอให้เรือยางไหลไปตามกระแสน้ำโดยไม่ชนกับแก่งหิน
ลำน้ำเข็กเป็นลำน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลผ่านอำเภอวังทอง ทอดยาวไปกับเส้นทางหลวงหมายเลข 12 (สายพิษณุโลก-หล่มสัก) ระยะทางล่องแก่งประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มีแก่งทั้งหมด 17 แก่ง แต่แก่งไฮไลท์ คือ แก่งชาง แก่งนางคอย แก่งยาว สามแก่งนี้เป็นจุดเร้าใจสุดๆ หากใครอยากมาล่องแก่งสามารถหาที่พักได้ที่อำเภอวังทอง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก โทรศัพท์ 055 252-742-3
ที่ตั้ง ถนนพิษณุโลก-หล่มสัก กม.46 ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
สายกรีนต้องเช็กอินที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ที่ที่ธรรมชาติยังรอคอยต้อนรับสู่อ้อมกอดอยู่ทุกๆ วัน ทุ่งแสลงหลวง หรือ ทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งเมืองไทย เป็นอุทยานที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ กินพื้นที่ถึง 2 จังหวัด คือ พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ ส่วนชื่อนั้นมามาจากพันธุ์ไม้แห่งหนึ่งของที่นี่คือ ต้นสแลงใจ อุทยานแห่งนี้มีสภาพความเป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะแก่การไปพักผ่อนหย่อนใจ สูดอากาศ ดีท็อกซ์ร่างกาย
จุดโดดเด่นของที่นี่คือทุ่งหญ้าสะวันนา ป่าสน และพรรณไม้ดอกที่สวยงามมากมาย นอกจากนั้นยังมี สะพานแขวน แก่งวังน้ำเย็น ทุ่งนางพญา ทุ่งโนนสน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่ในเขตอุทยานเดียวกันด้วย ช่วงที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวคือฤดูหนาว พฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ และฤดูฝนมิถุนายนถึงตุลาคม สองช่วงนี้อากาศจะเย็นสบายสดชื่น ตรงจุดกางเต้นท์สามารถมองเห็นวิวทุ่งหญ้าแบบสามร้อยหกสิบองศากันเลยทีเดียว และยังมีที่พักของอุทยานเป็นตัวเลือกให้ด้วย มาเที่ยวที่นี่แค่ชมพระอาทิตย์ขึ้นกับชมทะเลหมอกก็นับว่าคุ้มสุดคุ้มแล้ว
ที่ตั้ง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ เป็นที่ตั้งของน้ำตกชาติตระการหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า น้ำตกปากรอง เพราะตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปากรองนั่นเอง เป็นน้ำตกที่เกิดจากความสมบูรณ์ของป่า มีทั้งหมด 7 ชั้นซึ่งแต่ละชั้นมีชื่อคล้องจองกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งตามชื่อธิดาของท้าวสามลในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง มะลิวัลย์ กรรณิการ์ การะเกด ยี่สุ่นเทศ เกศเมือง เรืองยศ รจนา แต่ละชั้นจะมีความสวยงามแตกต่างกันไป น้ำตกชั้นที่สวยที่สุดคือชั้นที่ 4 ยี่สุ่นเทศ เพราะสายน้ำจะมีขนาดกว้างไหลตกลงมายังหน้าผาแบบช้าๆ อันที่จริงแต่ละชั้นจะมีน้ำตกไหลลงมาตลอดทั้งปี แต่ฤดูที่สวยที่สุดคือฤดูฝน ซึ่งเปิดให้เข้ามาท่องเที่ยวแค่ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคมเท่านั้น
ในบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น ผาแดงซึ่งเป็นจุดชมทิวทัศน์มองเห็นผืนป่าและบ้านเรือนผู้คน ผากระดานบริเวณหน้าผามีการแกะสลักเป็นรูปทรงเรขาคณิตนับเป็นผลงานศิลปะยุคแรกของมนุษย์ น้ำตกนาจาน ถ้ำน้ำมุด ถ้ำกา เป็นต้น ระหว่างทางในอุทยานฯ จะเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เขียวขจีไปทั่วทั้งบริเวณ ให้เดินชิลล์ๆ หากใครอยากพักค้างก็มีบ้านพักบริการนักท่องเที่ยวด้วย หรืออยากพักแบบกางเต้นท์ก็มีจุดบริการอย่างกว้างขวางทีเดียว
อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ โทรศัพท์ 055 237-028
ที่ตั้ง บ้านปากรอง อำเภอชาติตระการและอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
หากมองเผินๆ แล้วเมืองสองแควบ้านเกิดแม่หญิงการะเกดดูเหมือนจะเป็นแค่ทางผ่าน แต่อันที่จริงแล้วมีที่เที่ยวมากมายจริงๆ ที่หยิบมาเล่านี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง สายบุญ สายกรีน สายแอดเวนเจอร์เมินไม่ได้เด็ดขาด ต้องไปให้ได้สักครั้ง แล้วจะค้นพบว่าพิษณุโลก สุขสนุกสนานได้เต็มอิ่มเช่นกัน
Cr. https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/travel-phitsanulok.html